บล็อกเกอร์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรายวิชาอินเตอเน็ต และ การสื่อสารในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

การเมือภาคพลเมือง

การเมืองภาคพลเมือง

การเมืองภาคพลเมือง โดย ศรายุทธ อันทะไชย์ 5 มีนาคม 2552

ประเวศ วะสี กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2551

กว่า 75 ปีแล้ว ที่การพัฒนาการเมืองอย่างไรๆ ก็ไม่สำเร็จ เพราะโครงสร้างของประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย เราจึงมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองถาวร เป็นอุปสรรคต่อความเจริญของประเทศ ควรที่คนไทยจะให้ความสนใจ เรื่องความเป็นพลเมืองกับโครงสร้างประชาธิปไตยกันอย่างจริงจัง

โครงสร้างอำนาจรัฐเป็นโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์ หรือโครงสร้างรัฐเผด็จการที่เป็นแท่งดำ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นแต่การเปลี่ยนแปลงผู้ถืออำนาจรัฐสูงสุด จากพระมหากษัตริย์ คณะราษฎร กองทัพ นักการเมือง/นายทุน แต่โครงสร้างอำนาจทางดิ่งสีดำยังคงอยู่เหมือนเดิม ประชาธิปไตยจึงไม่เกิด แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งก็เป็นเพียงพิธีกรรมใช้เงินเข้าสู่การมีอำนาจรัฐสูง สุด เป็นเพียงรูปแบบไม่ใช่สาระ โครงสร้างเผด็จการยังดำรงอยู่ เมื่อไม่มีประชาธิปไตยโดยสาระก็แก้ปัญหาของประเทศไม่ได้ และมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองอยู่เรื่อยไป

อำนาจรัฐโดยกระทรวงและกรมต่างๆ นั้นยื่นไปครอบคลุมทุกปริมณฑลของพื้นที่ โดยรวมศูนย์บังคับบัญชาไว้ที่ข้างบน นี้คือระบบอำนาจรวมศูนย์แนวดิ่ง ระบบอำนาจเช่นนี้คับแคบ และไม่สามารถทำงานให้ได้ผลในสังคมปัจจุบันซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล หลากหลาย ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นี้คือความไม่สมเหตุสมผลใหญ่ในประเทศไทย นั่นคือ สังคมสมัยใหม่ที่เติบโตกว้างใหญ่ไพศาล มีความหลากหลาย ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กับกลไกของรัฐเชิงอำนาจที่รวมศูนย์คับแคบ มีสมรรถภาพน้อย เพราะในระบบอำนาจใดๆ จะมีการเรียนรู้น้อย เนื่องจากใช้อำนาจจนเคยชิน ความล้มเหลวของกลไกรัฐจึงเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ

ปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อนยากต่อการเข้าใจและการแก้ไข กลไกของรัฐจึงแก้ปัญหาอะไรๆ ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจน ความอยุติธรรมในสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จริงปัญหาชายแดนภาคใต้เกิดจากความขัดแย้ง ระหว่างอำนาจรัฐรวมศูนย์กับวัฒนธรรมท้องถิ่น ท้องถิ่นต่างๆ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อำนาจรัฐรวมศูนย์มีวัฒนธรรมเดียวคือวัฒนธรรมอำนาจ จึงไม่ได้ผลและขัดแย้ง ซึ่งจะมีความรุนแรงในรูปต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โครงสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์ทำเรื่องดีๆ ได้ยาก แต่คอร์รัปชันได้ง่าย

ในโครงสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์ เมื่อการเมืองเข้ามาสวมอำนาจสูงสุดจึงควบคุมเบ็ดเสร็จ มีอำนาจสมบูรณ์ อำนาจสมบูรณ์นำไปสู่คอร์รัปชันสมบูรณ์ (ABSOLUTE POWER LEADS TO ABSOLUTE CORRUPTION) ประเทศไทยจึงเป็นประเทศคอร์รัปชันสูงติดอันดับโลก นำความอัปยศมาสู่คนไทยทั้งชาติ ด้วยเหตุโครงสร้างอำนาจที่สมบูรณ์นี้แหละ ซึ่งเป็นระบอบเผด็จการฉะนั้นประชาธิปไตยจึงไม่ใช่การเลือกตั้งเท่านั้น

แต่จะต้องทำทั้งรูปและนามให้เป็นประชาธิปไตย ในทางพระพุทธศาสนา รูปกับนาม หรือ กายกับใจ เป็นของที่เชื่อมโยงกันจะขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ ถ้าขาดรูปหรือกายก็ไม่มีใจ ถ้าขาดใจรูปก็ดำรงอยู่ไม่ได้ รูปคือโครงสร้าง ใจคือความรู้สึกนึกคิด เราคงจะต้องสนใจทั้งโครงสร้างและจิตของประชาธิปไตย

ความเป็นพลเมือง จะสร้างกายและจิตของประชาธิปไตย

ต้องเอาใจใส่ความแตกต่างของคำว่าประชาชนและคำว่าพลเมือง คำว่าประชาชนไม่ได้บอกคุณภาพ อาจจะเป็นประชาชนที่เป็นทาส อยู่ในระบบอุปถัมภ์ หมอบราบคาบแก้ว ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน แต่คำว่าพลเมือง (CITIZEN) บ่งบอกถึงคุณภาพ

พลเมืองหมายถึงคนที่มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน มีอิสระ มีความรู้ มีเหตุผล มีส่วนร่วมในกิจการของส่วนรวม หรือกระบวนการทางนโยบาย

ลองดูคำนิยามข้างต้นให้ดีๆ เถิดครับ ใครๆ ก็ควรเป็นพลเมืองใช่ไหมครับ จะดีเพียงใด ถ้าเรามีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน มีอิสระ มีความรู้ มีเหตุมีผล มีส่วนร่วมในกิจการของส่วนรวม คำว่าพลเมืองจึงไม่ได้แยกพวก ใครๆ ก็ควรเป็นไม่ว่าจะเป็นประชาชน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ สื่อมวลชน นักวิชาการ ด้วยความสมัครใจ

ความเป็นพลเมือง คือหัวใจของประชาธิปไตย เมื่อในประเทศมีความเป็นพลเมืองกันมากๆ จะเกิดโครงสร้างและจิตใจของประชาธิปไตยขึ้น ดังนี้

0 แต่ละบุคคลมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน พากันทำเรื่องดีๆ

0 มีการรวมกลุ่มกันค้นคว้าหาความรู้ ทำเรื่องดีๆ

0 มีการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เกิดโครงสร้างใหม่ในสังคม ซึ่งเป็นโครงสร้างทางราบ

เมื่อมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำด้วยความเสมอภาคและภราดรภาพในรูปต่างๆ สังคมจะเกิดโครงสร้างใหม่ เป็นโครงสร้างทางราบ ที่ไม่ใช่โครงสร้างอำนาจ แต่เป็นสัมพันธภาพด้วยใจ ด้วยการเรียนรู้ ด้วยความร่วมมือตามหลักอปริหานิยธรรม หรือธรรมะเพื่อความเจริญถ่ายเดียว สังคมที่มีโครงสร้างทางราบนี้เรียกว่า CIVIL SOCIETY หรือ สังคมแห่งความเป็นพลเมือง หรือประชาสังคม หรือสังคมสันติประชาธรรม หรือมีความเป็นประชาธิปไตยโดยสาระ

สังคมใดเป็นสังคมแห่งความเป็นพลเมือง เศรษฐกิจจะดี การเมืองจะดี และศีลธรรมจะดี

สังคมใดที่มีความสัมพันธ์ทางดิ่ง เศรษฐกิจจะไม่ดี การเมืองจะไม่ดี และศีลธรรมจะไม่ดี ทำอย่างไรก็ดีไม่ได้ในโครงสร้างแบบนี้ ดังในกรณีของประเทศไทย ฉะนั้นการส่งเสริมความเป็นพลเมือง และสังคมแห่งความเป็นพลเมือง คือ ระเบียบวาระและอนาคตของชาติ

การเมืองภาคพลเมือง ก็คือ ความเป็นสังคมพลเมือง

กล่าวคือ คนที่มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคน มีอิสระ มีการรวมตัวกันทำเรื่องดีๆ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ในการวางแผนการพัฒนาในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้นั่นเอง

การเมืองภาคพลเมือง เป็นหัวใจของประชาธิปไตยที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดีขึ้น และเกิดความถูกต้องในบ้านเมือง ที่ทุกฝ่ายควรจะส่งเสริมสนับสนุนและช่วยกันขับเคลื่อนด้วยสันติวิธี ภายในขอบเขตของกฎหมายด้วยความเมตตา ด้วยความอดทน ด้วยการใช้ปัญญา ทั้งหมดนี้เป็นอริยวิถี เราคนไทยต้องเป็นคนที่เจริญและใช้อริยวิถี ซึ่งจะทำให้เกิดอริยสังคม

ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและของการเมืองภาคพลเมืองจะทำให้เกิด ประชาธิปไตยระดับชาติที่มีคุณภาพ และวิกฤตการณ์ทางการเมืองหมดไป ทำให้ประเทศตั้งต้นไปสู่ความเจริญอย่างแท้จริงได้ ทุกภาคส่วนในสังคมจึงควรร่วมขับเคลื่อนเรื่องความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และการเมืองภาคพลเมือง

มหาวิทยาลัยและระบบการศึกษาทั้งหมดควรจะจัดการศึกษาที่ส่งเสริมความเป็น พลเมือง (CIVIC EDUCATION) ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว สื่อมวลชนทุกแขนงควรจะสื่อสารเรื่องความเป็นพลเมืองและการเมืองภาคพลเมือง การเมืองภาคพลเมืองไม่ได้อันตรายต่อใคร แต่ประชาธิปไตยที่ลงตัวจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ทุกสถาบัน รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นรัฐบาลและภาคธุรกิจควรส่งเสริมภาคพลเมือง (CITIZEN SECTOR) ให้เข้มแข็งโดยเร็ว

เป็นที่น่ายินดีที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสภาพัฒนาการเมือง และสภาพัฒนาการเมืองตั้งใจที่จะมุ่งส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง ในวันที่ 21 มีนาคม 2551 จะมีการสัมมนาเรื่อง "เส้นทางสู่ความเข้มแข็ง...การเมืองภาคพลเมือง" จัดโดยสถาบันพระปกเกล้าและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ

ในบรรดาแนวทางหรือกลยุทธ์ที่จะส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง น่าจะมีการออก พ.ร.บ. ส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง เพื่อให้เห็นว่าการเมืองภาคพลเมืองไม่ใช่เรื่องข้างถนน แต่เป็นเรื่องทรงคุณค่าที่ควรเป็นความมุ่งมั่นร่วมกันของทั้งสังคม ในกระบวนการตรา พ.ร.บ. นี้ เป็นโอกาสที่จะสร้างความเข้าใจอย่างกว้างขวาง และเมื่อเป็น พ.ร.บ. แล้ว จะได้มีความรู้สึกทางบวกว่าเป็นเรื่องของบ้านเมืองที่ผ่านการรับรองของ รัฐสภา และมีพระบรมราชโองการให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ความเข้าใจและความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมืองจะนำ ไปสู่ยุคอริยประชาธิปไตย ที่บ้านเมืองจะหลุดพ้นจากวิกฤติไปสู่ความเจริญที่แท้จริงได้

โดย..พศวัต อันทะไชย์ 20/10/51

ที่มา http://www.blogger.com/post-create.g?blogID=2001265685832374493

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น