บล็อกเกอร์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรายวิชาอินเตอเน็ต และ การสื่อสารในชีวิตประจำวัน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

สัมภาษณ์ “ณัฐกร วิทิตานนท์” …ทบทวนให้จงหนักก่อนจะ “ยี้” เรื่องขึ้นเงินเดือน “อบต.”

ประเด็นที่ร้อนแรงและเรียกเสียง “ยี้” จากคนในสังคมเกือบทุกรอบ ไม่ว่ารัฐบาลไหนที่พยายามขยับเงินเดือนให้กับนักการเมืองระดับชาติและท้อง ถิ่น

รอบนี้ก็เช่นเดียวกันเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ พยายามจะขึ้นเงินเดือนให้กับนักการเมืองระดับชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพรรคร่วมอย่างพรรคภูมิใจไทย ที่พยายามเสนอขึ้นเงินเดือนให้กับนักการเมืองท้องถิ่นอย่างสมาชิกองค์การ บริหารส่วนตำบล

เกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่พยายามปูทางไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ แต่ในอีกด้านเหมือนราวกับว่าเรายังคงมอง “นักการเมือง” ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือท้องถิ่นก็ยังถูกมองเป็น “ผีห่าซาตาน” อยู่

วันนี้ประชาไทสนทนากับ “ณัฐกร วิทิตานนท์” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ที่เกาะติดเรื่องการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น รวมถึงผลิตงานวิชาการ-งานเขียนเกี่ยวกับเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นมาสม่ำ เสมอคนหนึ่ง …

0 0 0

ในความคิดส่วนตัว เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือน ส.ส. ส.ว. และ อบต. หรือไม่?

ไม่ว่าคนที่ชงเรื่องนี้จะหวังผลลึกๆ อย่างไร แต่โดยส่วนตัว ผมเห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี อบต.

เหตุผล?

แน่นอนที่สุด การเมืองเป็นเรื่องของความเสียสละ แต่เราไม่ควรมองข้ามความเป็นจริงของการเมืองที่ว่าขณะเดียวกันมันก็มีราคา ที่ต้องจ่าย (เป็นตัวเงิน) ไม่น้อยด้วยเช่นกัน เอากันตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่างการใส่ซองงานศพ งานบวช งานบุญ กฐิน ผ้าป่า งานแต่งงาน แค่นี้ก็อ่วมแล้ว ผมเคยคุยกับ ส.ท.หลายคน บอกว่าเดือนหนึ่งๆ ต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นหมื่นบาทเลยทีเดียว (ขั้นต่ำซองละ 500) ไม่ให้ก็ไม่ได้ มีเคือง เพราะถือเป็นความผูกพันทางใจระหว่างกันของผู้แทนกับราษฎร์ ขณะที่ค่าตอบแทน ส.ท. (สูงสุด) อยู่ที่เดือนละ 16,200 บาท ถ้าอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายบริหารก็ยังพอมีหนทางจุนเจือ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เลือกตั้งไม่ทันไรฝ่ายค้านกลับย้ายข้างไปสนับสนุนฝ่าย ผู้บริหารซะงั้น หรือไม่เช่นนั้นที่บ้านก็ต้องมีธุรกิจใหญ่โตหนุนหลังอยู่เท่านั้นจึงจะอยู่ ได้โดยไม่เดือดร้อน

ทีนี้ลองย้อนไปดูค่าใช้จ่ายตอนจะเข้าสู่การเมืองบ้าง นี่นับเฉพาะช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ไหนจะค่าป้าย แผ่นพับ รถแห่ จ้างคนช่วยหาเสียง เอาตามตัวเลขที่เป็นทางการที่ กกต.กำหนดไว้ไม่ให้เกินนะครับ ยกตัวอย่างตำแหน่งนายก อบจ.เชียงราย ใช้ได้ไม่เกิน 3 ล้านบาท (ตัวเลขจะกี่มากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของแต่ละจังหวัดอีกที) แต่ได้เงินเดือนจริงๆ อยู่เต็มที่จนครบวาระ 4 ปีเต็ม รวมกัน 3,181,440 (แยกเป็นค่าตอบแทนเดือนละ 46,280 ค่าตอบแทนตำแหน่ง 10,000 ค่าตอบแทนพิเศษ 10,000) หักแล้วเหลือตังค์ให้ใช้เดือนละแค่ 3,780 บาท โดยยังมิพักเอ่ยถึงภาษีสังคมสารพัดที่ต้องจ่ายระหว่างดำรงตำแหน่ง

อีกข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ เหตุไฉนที่ผ่านมาค่าตอบแทนของฝ่ายการเมืองถึงน้อยกว่าฝ่ายประจำ ทั้งๆ ที่ฝ่ายการเมือง (โดยเฉพาะตัวนายกฯ) ในฐานะผู้นำสูงสุดขององค์กรปกครองท้องถิ่นซึ่งประชาชนให้ความไว้วางใจ มีภาระรับผิดชอบสูงกว่าในแทบจะทุกด้านก็ว่าได้ เช่นถ้ามีคดีอาญาก็ต้องติดคุกเป็นคนแรก หรือถ้าจะต้องชดใช้เงินก็ต้องชดใช้ในอัตราส่วนที่มากกว่าคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้เงื่อนไขมากมายในทางกฎหมาย ทว่าเงินเดือน นายก อบต.จากปัจจุบันที่ได้ 7 พันกว่าถึง 9 พันกว่าบาท ปีหน้าจะปรับขึ้นเป็นหมื่นห้าถึงหมื่นแปด แต่เงินเดือนปลัด อบต.กลับอยู่ที่ราวๆ หมื่นหกไปจนถึงสามหมื่น ซึ่งภาพรวมก็ยังถือว่าน้อยกว่าของฝ่ายข้าราชการประจำอยู่ดี อันนี้น่าแปลก

ในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่นักการเมืองท้องถิ่น ขอสรุปสั้นๆ อย่างนี้แล้วกันนะครับ เราจะหวังให้นักการเมืองทุ่มเททำงานในบทบาทของตัวเองอย่างเต็มที่ได้อย่างไร ในขณะที่ยังคงมีครอบครัวลูกเมียให้รับผิดชอบ

ประชาชนที่ต่อต้านอาจมองว่า นักการเมืองคือคนที่มีฐานะดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขึ้นเงินเดือน?

ในระดับชาติอาจเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ได้ แต่ก็คงจะไม่ใช่ทุกคน ทว่าสำหรับการเมืองท้องถิ่นแล้ว การที่จะไปเหมารวมเช่นนั้นอาจไม่ถูกต้องนัก พื้นฐานของนักการเมืองท้องถิ่นจำนวนมากมาจากข้าราชการบำนาญที่ทำงานใน พื้นที่นั้นๆ มาอย่างยาวนานจนเป็นที่รู้จักคุ้นเคยและไว้วางใจของชาวบ้าน หรือไม่ก็มักเป็นคนที่เกิด โต และทำงานอยู่ในท้องถิ่นของตัวเองมาแทบจะตลอดชีวิต ด้วยความที่ญาติพี่น้องเยอะก็เลยได้รับเลือกตั้ง ทั้งสองกลุ่มนี้เค้าไม่ใช่คนซึ่งร่ำรวยอะไรที่ไหนหรอกครับ แค่อยากจะรับใช้สังคม ที่นี้การสร้างภาพว่าทำงานการเมืองถือเป็นเรื่องเปลืองตัว การเมืองเป็นเรื่องเลวร้ายโสมม คนดีๆ อย่าได้ข้องแวะ ความคิดทำนองนี้ผมว่าอันตราย เพราะเท่ากับไปจำกัดพื้นที่การเมืองสงวนไว้เฉพาะคนบางกลุ่มแค่นั้น ทั้งๆ ที่การเมืองเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ว่าจะคนระดับคุณอภิสิทธิ์เรื่อยมาถึงตาสีตาสายมียายมาข้างถนน ปลูกฝังกันอย่างนี้อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะมีใครหน้าไหนบ้างที่จะอาสาเข้ามาทำ งาน การเมืองก็ไม่มีความหลากหลาย

จึงไม่แปลกที่การรับรู้ของคนทั่วไปจะมองว่านักการเมืองท้องถิ่นเต็มไป ด้วยผู้รับเหมา เพราะการที่จะเข้ามาและอยู่ตรงนี้ได้มันก็ต้องใช้เงินหล่อเลี้ยงความนิยมมาก พอดู อันนี้คงปฏิเสธยาก แต่ไม่อยากให้คิดไปเองว่านักการเมืองทุกคนจ้องเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เพราะจริงๆ แล้วก็มีไม่น้อยที่เต็มใจจะควักเนื้อตนเอง หวังให้มีโอกาสได้รับใช้สังคมบ้าง เช่น ทนอยู่กับรถติดไม่ได้อยากจะเข้ามาลองแก้ไขดูซะเอง หรืออยากเห็นสวนสาธารณะสวนสนุกให้ผู้คนลูกหลานได้วิ่งเล่นกัน ไม่ก็อยากกระตุ้นเตือนให้คนในท้องถิ่นหันมาเห็นความสำคัญของภาษา วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

ทีนี้ถ้าเรากลัวนักการเมืองท้องถิ่นจะมีนอกมีใน จะเกาให้ถูกที่คันก็ต้องขันน็อตกลไกตรวจสอบโดยองค์กรตัวย่อต่างๆ ทั้ง ปปช. ปปท. สตง. รวมถึงจังหวัด อำเภอให้ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ตรงไปตรงมา และไม่มีนอกมีในเสียเอง เพราะทุกวันนี้ก็มีกฎหมายร้อยรัดให้นักการเมืองท้องถิ่นขยับตัวยากยิ่งอยู่ แล้ว เช่น ห้ามไม่ให้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ฯลฯ

คิดว่า ทำไมการตรวจสอบนักการเมืองของคนในสังคมไทยมีสองมาตรฐานหรือไม่? เมื่อเทียบกับการพยายามตรวจสอบเรื่องเงินๆ ทองๆ กับสถาบันอื่นๆ เช่น กองทัพ, ศาล, องค์กรอิสระต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ เพราะอะไร?

สังคมนี้เคยมีมาตรฐานด้วยเหรอครับ? เหตุผลสั้นๆ คือเราเป็นสังคมที่พยายามบอกกับตัวเองตลอดเวลาว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ก็คงจะเป็นประชาธิปไตยในแบบที่ไม่เหมือนใครในโลก เพราะเป็นประชาธิปไตยที่มองข้ามการเลือกตั้ง ผมเห็นด้วยกับคำพูดที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ชอบพูดบ่อยๆ ว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ทุกอย่างของประชาธิปไตย แต่ ผมว่าไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนหรอกไม่เอาการเลือกตั้งมาเป็นจุดตั้งต้น ภายใต้วิธีคิดดังกล่าวรัฐธรรมนูญไทยก็พยายามออกแบบให้ที่มาขององค์กรต่างๆ ปลอดจากการเมือง (ด้วยความหมายคับแคบว่าการเมืองเท่ากับการเลือกตั้ง) และเชื่อมั่นสุดๆ ว่าคนดีที่มานั่งอยู่ในองค์กรเหล่านี้ก็จะไม่โกงด้วย เมื่อเชื่อเช่นนั้นการตรวจสอบที่มีก็ไม่เข้มข้นเหมือนๆ กับที่มีต่อนักการเมือง ซึ่งเขาพากันเชื่อง่ายๆ ว่าเป็นคนไม่ดีโดยที่มา เพราะเลือกตั้งต้องใช้เงินใช้ทอง เมื่อจ่ายแล้วก็ย่อมจะต้องทอนถุนคืนเสมอไป เป็นธุรกิจการเมืองเต็มรูปแบบ

สรุปถ้าขึ้นแล้ว ควรเรียกร้องอะไรกับนักการเมือง?

เรียกร้องให้ตามให้ทันความต้องการของประชาชน อย่างน้อยๆ ก็ในพื้นที่ของท่านก่อน วันนี้สังคมเปลี่ยนโฉมไปมากแล้วท่านต้องเข้าใจ การทำงานการเมืองก็เช่นเดียวกัน ลำพังแค่ลงพื้นที่ถึงทุกงานคงไม่เพียงพอ อุดมการณ์ทางการเมืองที่ก้าวหน้าเป็นสิ่งที่สังคมกำลังเรียกร้องเอาจากท่าน ด้วย พึงระลึกไว้เสมอว่าค่าตอบแทนเหล่านี้มาจากภาษีประชาชน



...........

ดูเพิ่มเติม

10 ปี การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น (พ.ศ.2543-2552): ฤาการเดินทางเพื่อกลับมา “หยุด” ตรงจุดเดิมhttp://www.prachatai3.info/journal/2010/10/31342

อภิเชต ผัดวงศ์ : ขึ้นค่าตอบแทน อบต. ใครได้ประโยชน์http://www.prachatai.com/journal/2010/12/3227

ที่มา http://prachatai.com/journal/2010/12/32344

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น